วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เคอร์รี บลู เทอร์เรีย (Kerry Blue Terriers)

เคอร์รี บลู เทอร์เรีย (Kerry Blue Terriers)
ฉลาด คล่องแคล่ว เชื่อฟังคำสั่ง


ลักษณะทั่วไป

     เคอร์รี่ บลู เทอร์เรีย เป็นสุนัขฉลาด คล่องแคล่ว เชื่อฟังคำสั่ง มีลักษณะการยืนที่มั่นคง โดดเด่น ลำตัวเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อแข็งแรงตามแบบสายพันธุ์เทอร์เรีย ขนหยักหนาทั่วตัว สีน้ำเงินเทามีตั้งแต่อ่อนไปจนถึงสีเข้ม ถ้าไม่ใช่สีดังกล่าวถือว่าไม่ได้มาตรฐาน  มีอายุอยู่ในช่วง 12 – 15 ปี


ความเป็นมา

     เคอร์รี่  บลู เทอร์เรีย เป็นสุนัขภูเขา มีต้นกำเนิดอยู่ที่ คันที เคอร์รี่ ประเทศไอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1700 โดยเลี้ยงไว้เพื่อจุดประสงค์ ในการใช้งาน และใช้สำหรับเกมล่าสัตว์เล็กๆ และใช้ในการล่านก ต้อนแกะ ต้อนวัว ชาวนาในไอร์แลนด์ได้คิดพัฒนาสายพันธุ์เคอร์รี่ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มชนชั้นสูง ซึ่งพวกเขาได้ถูกนำไปช่วยชาวนาในการล่อสัตว์เล็กๆ ที่อยู่ตามพื้นดิน บลูเทอร์เรียถือได้ว่าเป็นเทอร์เรียประจำชาติของไอร์แลนด์ และต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไอร์แลนด์ในเวลาต่อมา



 ลักษณะนิสัย

     เคอร์รี่ บลู เทอร์เรีย มีจิตวิญญาณ แห่งความเป็นสุนัขสูง ไม่ว่าจะความซื่อสัตย์  ฉลาด เป็นมิตร น่ารัก จิตใจดี สุภาพอ่อนโยน สามารถป้องและดูแลครอบครัวได้อย่างดี  แต่จากขนาด ความสูง ความแข็งแกร่ง และสีที่มีลักษณะเฉพาะ พวกเขามักถูกนำไปใช้ในการแข่งขันสุนัข โดยมีชื่อขนานนามว่า “ปีศาจสีน้ำเงิน” (Blue Devils) อย่างไรก็ตาม ด้วยสายเลือดนักล่า พวกเขาจะชอบวิ่งไล่แมว หรือสัตว์ตัวเล็กๆ รวมถึงสุนัขพันธุ์เล็กด้วย ผู้เลี้ยงจึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ และโดยธรรมชาติของเคอร์รี่ บลู เทอร์เรีย แล้วพวกเขาเหมาะกับการนำไปใช้งาน ไม่ว่าจะทั้งงานในที่ร่มหรือที่แจ้ง ซึ่งพวกเขาฉลาดและมีไหวพริบอย่างเหลือเชื่อในการทำงาน ไม่ว่าต้อนแกะ ติดตามเส้นทาง และการล่าสัตว์ นอกจากนี้พวกเขายังเป็นสุนัขที่เชื่อฟังคำสั่ง ตื่นตัว สามารถสอนทักษะใหม่ๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเรื่องการนำไปใช้งาน หรือให้เล่นเกมน่ารักๆ เพื่อความสนุกสนาน แต่เวลาสอนพวกเขาควรใช้โทนเสียง และน้ำเสียงที่อ่อนโยนกับพวกเขา เพราะเคอร์รี่ บลู เทอร์เรีย ค่อนข้างอ่อนไหวง่ายต่อการรับคำสั่ง ผู้เลี้ยงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ


 การดูแล

     เคอร์รี่ บลู เทอร์เรีย เป็นสุนัขที่ไม่ค่อยเกิดอาการแพ้บริเวณผิวหนัง การทำความสะอาดไม่ยุ่งยากเท่าใดนัก เพียงแปรงขนเป็นประจำทุกสัปดาห์ และได้รับการตัดแต่งขนเมื่อยาวเกินไป เพื่อไม่ให้ขนพันกันเป็นสางกะตัง อักเสบที่ผิวหนังจนเกิดการติดเชื้อ และควรอาบน้ำให้ 3-4 สัปดาห์ต่อครั้ง ส่วนการออกกำลังกายเนื่องจากเคอร์รี่ บลู เทอร์เรียมีความเป็นสุนัขนักแข่งอยู่ในสายเลือด  พวกเขาจึงต้องการออกกำลังกายมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะการเดิน หรือ วิ่ง พวกเขาก็จะรู้สึกดี ชื่นชอบมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการได้ออกกำลังกายร่วมกับเจ้าของจะช่วยให้เขายิ่งรู้สึกผูกพันมากยิ่งขึ้น

 ผู้เลี้ยงที่เหมาะสม

     เคอร์รี่ บลู เทอร์เรียมีความตื่นตัวและต้องการใช้พลังงาน รวมทั้งการออกกำลังกายสูง แต่พวกเขาก็สามารถอยู่ได้ดีในอพาร์ตเม้นท์หรือบ้านหลังเล็ก พวกเขาสามารถวิ่งเล่นหากิจกรรมได้เองภายในบ้าน พวกเขาค่อนข้างขี้เบื่อควรจัดหากิจกรรมให้เขาได้เล่น หรือถ้ามีสนามหญ้าก็ปล่อยให้เขาได้วิ่งเล่นบ้าง แต่ว่าควรล้อมรั้วไว้ให้เรียบร้อย ผู้เลี้ยงไม่ควรล่ามเขาไว้อยู่กับที่ตลอดทั้งวัน เพราะพวกเขาต้องการความรักและการเอาใจใส่สูง  การปล่อยทิ้งให้เขาอยู่ตัวเดียวเป็นเวลานานจะส่งผลเสียต่อสภาวะจิตใจได้



 มาตรฐานสายพันธุ์

ขนาด    เคอร์รี่ บลู เทอร์เรียเพศผู้จะมีส่วนสูงประมาณ 18.5-20 นิ้ว น้ำหนัก 15-18 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียมีส่วนสูงประมาณ 17.5-19 นิ้ว น้ำหนัก 15-18 กิโลกรัม

ศรีษะ   ศีรษะแบน ช่วงกระโหลกศีรษะระหว่างตา 2 ข้างหักเพียงเล็กน้อย ความกว้างศีรษะระหว่างหูทั้ง 2 ข้างมีขนาดปานกลาง  ศีรษะด้านหน้าเต็ม ความยาวของศีรษะและใบหน้าใกล้เคียงกัน  ขากรรไกรลึก แข็งแรง และมีกล้ามเนื้อ แก้มได้ระดับพอดี ไม่ขรุขระ ไม่เรียบ

ฟัน ฟันขาว แข็งแรง ฟันบนเกยฟันล่างเล็กน้อย ลักษณะฟันแบบขบกรรไกร

ปาก กระบอกปากยาว มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม

ตา ตาอยู่ในตำแหน่งที่ดี นัยน์ตา สีเข้ม ลึก ไม่มีตำหนิ มีแววเฉลียวฉลาด

หู    หูมีลักษณะรูปตัววี ( V) ขนาดเล็กพอเหมาะพอดีกับขนาดตัว ความหนาของหูไม่มากไม่น้อยเกินไป หูพับลงอยู่ใกล้กับแก้ม  ส่วนบนสุดของหูที่พับจะอยู่เหนือ
กระโหลกศีรษะ

จมูก สีดำสนิท รูจมูกกว้างและใหญ่

คอ สะอาด ยาวปานกลาง คอจะกว้างขึ้นช่วงติดหัวไหล่ แลดูสง่างาม

อก อกลึก กว้างปานกลาง ซี่โครงขยายกว้างกำลังดี ลึกและเป็นทรงกลม

ลำตัว หลังสั้น ตรง และแข็งแรง กล้ามเนื้อไม่ย้วย ดูบึกบึนเล็กน้อย

เอว -

ขาหน้า ช่วงไหล่แบน ขาตรงใหญ่ไม่เล้กจนเกินไป กระดูดขาแข็งแรง 

ขาหลัง  ขาหลังแข็งแรง หน้าแข้งยาวและมีพละกำลัง ช่วงโค้งหน้าขาโค้งได้รูป ท่อนขาอยู่ต่ำใกล้พื้นดิน มองจากทางด้านหลัง ขาตั้งตรงขนานกัน แลดูมั่นคง

หาง หางชี้ขึ้น ตั้งสูง ดูร่าเริง ยิ่งตั้งตรงยิ่งดี

ขน   ขนนุ่ม หนาแน่น และหยักเป็นคลื่น ปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย รวมถึงศีรษะ หู และ แก้ม แต่ดูเป็นระเบียบไม่ยุ่งเหยิง  บริเวณกระบอกปากขนยาวปกคลุมเหมือนหนวดเครา

สีขน สีขนมีเอกลักษณธเฉพาะ คือสีเทาน้ำเงินเข้ม หรือ สีน้ำเงินเงาอ่อน สีขนบริเวณปาก หู หาง และเท้า จะเข้มกว่าส่วนอื่นๆ  อาจเข้มจนเกือบดำ อย่างไรก็ตามเวลาเขาเกินมาสีขนจะเป็นสีดำ แล้วจึงค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเทาน้ำเงิน หรือสีน้ำเงินเทา


 ข้อควรจำ

     โดยทั่วไปแล้ว เคอร์รี่ บลู เทอร์เรีย เป็นสุนัขที่มีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่นๆ แต่อาจมีแนวโน้มเป็นโรคประจำสายพันธุ์ได้ นั่นก็คือ ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับดวงตา กระดูกสะโพกเคลื่อน  และอาการแพ้ที่บริเวณผิวหนัง หรือรูขุมขนบ้างเล็กน้อย นอกจากนี้ก็อาจมีอาการแพ้ยาบางชนิด ผู้เลี้ยงจึงควรสังเกตอาการเป็นพิเศษ หากให้เขากินยาอะไรก็ตามเข้าไป นอกจากนี้ควรพาเขาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้น  


เจแปนนิส สปิตซ์ (Japanese Spitz)

เจแปนนิส สปิตซ์ (Japanese Spitz)
ตื่นตัว เรียนรู้ไว เป็นนักเตือนภัยที่ดี


 ความเป็นมา

     จริงๆแล้วมีสุนัข spitz อยู่หลายพันธุ์ เช่น Japanese spitz , Finnish Spitz ,German Spitz แต่ที่ได้รับความนิยมในบ้านเราที่สุดคือ Japanese spitz ซึ่งเป็นสุนัขที่เกิดจากการ ผสมพันธุ์ระหว่างสุนัข Siberian และ Samoyed ให้ตัวเล็กลง จะเห็นว่าหน้าตาเหมือนเจ้า Samoyed ทุกอย่าง เพียงแต่ว่าขนาดเล็กลงมาเท่านั้นเอง ในสมัยก่อนสุนัขพันธุ์นี้เป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่นมาก จึงเป็นที่มาของชื่อพันธุ์



 ลักษณะนิสัย

     มีนิสัยร่าเริง ฉลาด และขี้เล่น ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และเชื่อฟังเจ้าของ อาจจะเห่าเก่ง เพราะมันจะมีสัญชาติญาณในการเตือนภัยให้เจ้าของเมื่อมันรู้สึกว่ามีอันตราย หรือมีคนแปลกหน้าที่ไม่คุ้นเคยเข้ามาใกล้ มันจะทำตัวเป็นยามปกป้องบ้านอยู่เสมอเลย ตามปกติแล้วเป็นสุนัขที่ฝึกได้ง่ายครับ แต่เจ้าของจะต้องให้เวลากับมันและฝึกอย่างสม่ำเสมอ สุนัขพันธุ์นี้จะชอบเล่นเกม อย่างพวกขว้างของแล้วให้ไปเอากลับมานี่จะชอบมากเป็นพิเศษ โดยทั่วไปแล้วสุนัขพันธุ์นี้เป็นมิตรกับเด็ก และเข้ากันได้ดีกับสุนัขที่ถูกเลี้ยงอยู่ในบ้านเดียวกัน

 การดูแล

     การดูแลขน นี่ควรจะได้รับการแปรงหรือหวีอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่มีความจำเป็นจะต้องพาไปตัดขน ตามปกติแล้วเจ้าสปิตซ์เป็นหมาที่รักสะอาดมาก อาจจะไม่ต้องอาบน้ำบ่อยนักในหน้าผลัดขน ขนของสุนัขพันธุ์นี้จะร่วงค่อนข้างเยอะ ตามลักษณะของสุนัขพันธุ์ที่มีขนสองชั้นและเป็นสุนัขในกลุ่ม Northern Breed ทั่วไป


 ผู้เลี้ยงที่เหมาะสม

     ผู้เลี้ยงต้องให้เจ้าตูบออกกำลังกายอย่างเพียงพอ เพราะเป็นสุนัขที่พลังงานค่อนข้างเยอะ ในแต่ละวันควรให้โอกาสมันได้วิ่งเล่น หรือเล่นเกมกับเขาบ้าง ก็จะลดปัญหาเรื่องการกัดทำลายข้าวของ ในบ้านลงได้ 



  มาตรฐานสายพันธุ์

ขนาด สูง 12-14 นิ้ว  น้ำหนัก 5-6 กิโล

ศรีษะ มีขนาดปานกลาง ส่วนหักบนใบหน้าระหว่างตาทั้ง 2 ข้างชัดเจน 

ฟัน ลักษณะฟันแบบขบกรรไกร

ปาก เป็นสีดำสนิท

ตา เป็นสีดำสนิท

หู เล็ก และตั้งตรง

จมูก เป็นสีดำสนิท

คอ คอได้รูป ยาวปานกลาง รับกับช่วงไหล่ เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ

อก อบกว้าง ลึก

ลำตัว ขนาดลำตัวกำลังพอดี ค่อนข้างบางเล็กน้อย ลำตัวมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมกระทัดรัด ขนาดความกว้างของลำตัวกับส่วนสูงค่อนข้างใกล้เคียงกัน หลังสั้นตรง

เอว -

ขาหน้า ขาหน้าตรง ขนานกันทั้ง 2 ข้าง ขาดูสั้นกว่าช่วงตัวเล็กน้อย

ขาหลัง ต้นขาเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ส่วนโค้งหน้าขา โค้งรับกับขาท่อนล่างกำลังดี ท่อนขาล่างตรง มองจากด้านหลังขนานกันทั้ง 2 ข้าง

หาง เป็นพวงและม้วนขึ้น 

ขน ขน 2 ชั้นยาวปานกลาง 

สีขน เป็นสีขาวตลอดทั้งตัว



 ข้อควรจำ

     สิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาก็คือเรื่องการเห่า เพราะได้ชื่อว่าเป็น "หมาเล็กใจใหญ่" เป็นสุนัขที่กล้าหาญและพร้อมที่จะปกป้องเจ้าของหรือบ้านที่อาศัยตลอดเวลา จะสงสัยคนแปลกหน้าเอาไว้ก่อน  


คอลลี่ (Collie)

คอลลี่ (Collie)
ใจดี แข็งแรง คล่องแคล่ง และรักเด็ก


ลักษณะทั่วไป

     คอลลี่เป็นสุนัขที่ร่าเริง แข็งแรง กระตือรืนร้นต่อสิ่งรอบข้าง เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วและยืดหยุ่นดี ไม่งุ่มง่าม ยืนตัวตรงและมั่นคง อกลึกและกว้างแสดงความแข็งแรง ไหล่ลาดเอียงและข้อเท้าที่โค้งพอดีแสดงความเร็วในการวิ่ง ใบหน้าของคอลลี่นั้นแสดงความฉลาดเฉลียว ลำตัวส่วนหน้าและส่วนหลังสมดุลกัน อวัยวะทุกส่วนได้สัดส่วนและประสานกันเป็นรูปร่างที่สวยงามลงตัว

 ความเป็นมา

     สุนัขคอลลี มีต้นกำเนิดจากบริเวณรอยต่อระหว่างตอนเหนือของประเทศอังกฤษ กับประเทศสกอตแลนด์โดยเกิดจากเมื่อเวลาที่ชาวโรมันเข้ามารุกรานประเทศอังกฤษ



 ลักษณะนิสัย

     สุนัขคอลลี่เป็นสุนัจที่ชาญฉลาดมาก และชอบที่จะสุงสิงกับคน เพราะฉะนั้นการฝึกสุนัขพันธุ์คอลลี่นี้ จึง ไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะทิ้งให้อยู่หลังบ้านตามลำพังเพราะเขาจะรู้สึกขาดความรัก และรู้สึกถูกทอดทิ้งซึ่งจะทำให้เขาซึมเศร้าไป สุนัขพันธุ์นี้รักความสะอาดและเหมาะจะเป็นเพื่อนที่ดีกับเด็กๆ สุนัขคอลลี่ชอบอยู่ร่วมกับสุนัขตัวอื่นๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นเพศตรงข้าม และถ้าหากผู้เลี้ยงมีสัตว์เลี้ยงตัวเล็ก ๆ ต้องเข้าใจว่าสัญชาตญาณของสุนัขเฝ้าแกะ สัตว์ตัวเล็กๆ ที่เหมือนจะชอบวิ่งหนีก็จะถูกต้อนไปยังที่ใดที่หนึ่งซึ่งเขาได้เล็งไว้

 การดูแล

     สุนัขคอลลี่มีขนยาวสวย และต้องได้รับการแปรงขนทุกอาทิตย์เพื่อให้ขนสวยงามอยู่ตลอด ถึงแม้ว่าสุนัขคอลลี่จะไม่แสดงอาการกระตือรือร้นขอให้ผู้เลี้ยงพาออกไปเดินเล่น แต่ถ้าได้ไปสุนัขจะเพลิดเพลิน และอารมณ์ดี สุนัขพันธุ์นี้มีความฉลาดและยังตั้งใจทำงานอย่างสุดความสามารถ มีพรสวรรค์ในการตามรอยและต้อนฝูงสัตว์ เพราะฉะนั้นสุนัขอาจจะอดใจไม่อยู่ เผลอไล่ต้อนสิ่งที่มาเคลื่อนไหวอยู่ใกล้ๆ ตัว ผู้เลี้ยงจะต้องพยายามสอนให้สุนัขเข้าใจ ว่าไม่ควรทำพฤติกรรมแบบนั้น  


 ผู้เลี้ยงที่เหมาะสม

     สุนัขพันธุ์คอลลี่นี้เหมาะกับเกือบทุกครอบครัวและสามารถเลี้ยงได้ทุกสถานการณ์เพราะสุนัขพันธุ์นี้มีความอ่อนโยนและปรับตัวได้ง่าย      


 มาตรฐานสายพันธุ์

ขนาด  ตัวผู้วัดจากพื้นถึงไหล่ควรสูงตั้งแต่ 24 - 26 นิ้ว หนักประมาณ 60 - 75 ปอนด์ ส่วนตัวเมียควรสูง 22 - 24 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 50 - 65 ปอนด์

ศรีษะ  หัวต้องไม่ใหญ่จนดูหนาหนัก คอลลี่ที่หัวใหญ่มักไม่ฉลาดเฉลียวและงุ่มง่าม เมื่อมองจากด้านหน้าและด้านข้างควรเห็นหัวเป็นรูปลิ่ม ใบหน้ามีขนสั้นเรียบ เส้นขอบของหัวเรียบไปตามแนวไม่เป็นปุ่มปูดโปนและอวัยวะแต่ละส่วนบนหัวได้สัดส่วนสมดุลกันดี

ฟัน ฟันและขากรรไกรแข็งแรง ลักษณะฟันเป็นแบบขบกรรไกร

ปาก ริมฝีปากดำ กระชับ ไม่ย้อย หรือห้อยตกลงมา

ตา  ดวงตาอยู่บนใบหน้าที่เป็นรูปลิ่ม เอียงลาดลงมาด้านข้างเล็กน้อยเพื่อจะได้มองเห็นได้ชัดเจน ตารีเป็นรูปเมล็ดอัลมอนด์ ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ไม่ปูดโปน สีตาเข้มและต้องไม่มีขอบสีเหลือง

หู หูได้สัดส่วนพอดีกับหัว ไม่เล็กเกินไป

จมูก รูจมูกกว้างกำลังดี จมูกควรมีสีดำ หรือสีที่เข้ากับสีขน แต่ไม่ควรเป็นสีน้ำตาล หรือสีช็อกโกแลต

คอ  คอตั้งมั่นคง ไม่อ่อนปวกเปียก เรียบ มีกล้ามเนื้อแข็งแรง กระชับ มีขนหนา คอยาวพอสมควร คอตั้งตรงแต่โค้งตรงท้ายทอยเล็กน้อย ยืนตรงคอตั้งแสดงความภาคภมิใจ และโชว์ขนรอบคอที่ยาวฟู   
      
อก อกลึก กว้าง

ลำตัว ลำตัวดูกระทัดรัด เป็นนักกีฬา ยืดหยุ่นดี อกลึก ซี่โครงขยาย มีกล้ามเนื้อแข็งแรง ยืดหยุ่น ส่วนสูงน้อยกว่าความยาวของลำตัว 

เอว -

ขาหน้า  ขาหน้าตรง แข็งแรง กระดูกไม่หนาหนักมากเกินไป ถ้าขาทั้งสองข้างอยู่ชิดกันหรือห่างกันเกินไปต้องถูกตัดคะแนน ขาหน้าควรมีเนื้อมากพอสมควร ข้อเท้ายืดหยุ่นได้ดีแต่ไม่ถึงกับอ่อนปวกเปียก

ขาหลัง  ขาหลังมีเนื้อน้อยกว่าขาหน้านิดหน่อย โคนขามีกล้ามเนื้อแข็งแรง ดูปราดเปรียว ข้อศอกโค้งงอพอดี ข้อบกพร่องของขาหลังคือสุนัขมีข้อเข่างอหุบเข้าหากัน

หาง  หางยาวพอสมควร ถ้าจับหางห้อยลงจะยาวลงมาถึงข้อเท้าหรือต่ำกว่านั้น ปกติหางจะห้อยลงโดยมีปลายงอนเล็กน้อย แต่เมื่อเวลาวิ่งหรือตื่นเต้นจะยกหางขึ้นแต่ไม่สูงขึ้นมาถึงหลัง

ขน คอลลี่ขนยาวมีขนทิ้งยาวสลวยทั่วทั้งตัว ยกเว้นที่หัวและขา ขนชั้นนอกตรงและหยาบ

สีขน  ปกตินิยมกันสี่สี ได้แก่ Sable and White, Tri-color, Blur Merle, และสีขาว ไม่มีสีไหนได้รับความนิยมมากกว่ากัน พวกที่มีสี Sable and White นั้นต้องมีสี sable เป็นพื้น แล้วมีสีขาวแซมบริเวณอก คอ ขา เท้าและปลายหาง บางตัวอาจมีแถบสีขาวพาดอยู่กลางหน้าไล่จากกะโหลก ผ่านระหว่างตามาจรดจมูก พวกที่มีสี Tri-color คือมีสีพื้นเป็นสีดำ แซมสีขาวบริเวณอก คอ ขา เท้าและปลายหาง มีเฉดสีดำบนหัวและขา พวกที่มีสี Blur Merle คือมีสีพื้นเป็นสีน้ำเงิน-เทา และ ดำ แซมสีขาวบริเวณอก คอ ขา เท้าและปลายหาง ปกติมีเฉดสีแทนบนหัวและขาเหมือนพวก Tri-colorพวกที่มีสีขาว คือมีสีพื้นเป็นสีขาว แซมด้วยสี Sable หรือ Tri-color หรือ Blur Merle ก็ได้




 ข้อควรจำ 

      โรคประจำสายพันธุ์ของคอลลี่ที่ควรระวังก็คือ อาการแพ้ยา ซึ่งพวกเขามักจะอ่อนไหวง่ายต่อยากว่า 100 ชนิด ซึ่งรวมไปถึง แอนตี้ไบโอติก และ สเตรอยด์ นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกิดจากความผิดปกติของยีนส์ ทำให้มีขนสีเทา  (canine cyclic neutropenia gray collie syndrome) ลูกคอลลี่ที่ออกมาจะมีขนสีเทา ร่างกายไม่แข็งแรง มีไข้ ท้องร่วง มีปัญหาดวงตา และผิวหนังติดเชื้อ เป็นต้น โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ หากพบว่าลูกคอลลี่ตัวไหนที่ออกมามีการดังกล่าว ควรแยกออกมาจากคอกโดยทันที 

ชิบะ อินุ (Shiba Inu)

ชิบะ อินุ (Shiba Inu)
ร่าเริงแจ่มใส คล่องแคล่ว ปราดเปรียว ว่องไว อ่อนโยน


ลักษณะทั่วไป

     ชิบะอินุเป็นสุนัขพันธุ์ดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่มีขนาดเล็กที่สุด เป็นสุนัขในตระกูลเดียวกันกับพันธุ์อะคิตะ (Akita) รูปร่างกระทัดรัด หูตั้ง กล้ามเนื้อกระชับ ขนสั้น 2 ชั้น มีทั้งสีดำผสมสีน้ำตาล สีแดง หรือ สีงาแดง ดวงตาสดใสและรูปริมฝีปากโค้งเหมือนกับกำลังยิ้ม ชิบะอินุ เป็นสุนัขอารมณ์ดี เป็นมิตร ตื่นตัว ฉลาดหลักแหลม  มีอายุเฉลี่ยประมาณ 12-15 ปี แต่มีสายพันธุ์ ชิบะ ปูสุเกะ (Shiba Pusuke) ซึ่งได้รับการออกกำลังอย่างเป็นกระจำจนร่างกายแข็งแรง สามารถอยู่ได้ยืนยาวถึง 26 ปี



ความเป็นมา

     ชิบะ อินุ มีต้นกำเนิดสายพันธุ์มาจากสุนัขล่าสัตว์ที่เติบโตอยู่ในบริเวณภูเขาของประเทศญี่ปุ่น ถือว่า เป็นสุนัขพื้นเมืองของชาวญี่ปุ่น เลี้ยงไว้ล่าสัตว์เล็กๆ  คำว่า “ชิบะ” หมายถึงพุ่มไม้หนา “อินุ” หมายถึง สุนัข ชิบะ อินุเป็นสุนัขที่ได้รับมาตรฐานสายพันธุ์แรกของญี่ปุ่น และได้รับการยอมรับและตั้งเป็นอนุสาวรีย์ของญี่ปุ่นผ่านกฎหมายทางทรัพย์สินทางวัฒนธรรม เพื่อการอนุรักษ์ของสุนัขญี่ปุ่น  ชิบะ  อินุเคยเกือบจะสูญพันธุ์เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลมาจากระเบิด สารเคมีและเชื้อโรค แต่หลังจากสงครามได้มีการนำชิบะ อินุที่เหลืออยู่ 3 สายเลือดคือ ชินชุ ชิบะ จากจังหวัดนากาโน่  มิโน ชิบะ จากจังหวัดไอจิ และ ซานอิน  ชิบะ จากจังหวัดทตโตะริและจังหวัดชินามิ มาผสมพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์มาเป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนี้

 ลักษณะนิสัย

     ชิบะ อินุ เป็นสุนัขที่ร่าเริงแจ่มใส คล่องแคล่ว ปราดเปรียว ว่องไว ขี้เล่น ฉลาด รักอิสระซื่อสัตย์ กล้าหาญ ใจดี อ่อนโยน รักและผูกพันกับสมาชิกในครอบครัวมากๆ และเป็นมิตรที่ดีกับเด็กๆ พวกเขาเข้ากับคนแปลกหน้าและสัตว์อื่นๆ ให้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้อย่างดีเยี่ยม ถือได้ว่าเป็นสุนัขที่รักการเข้าสังคมมากที่สุดพันธุ์หนึ่ง แต่ด้วยสายเลือดนักล่า พวกเขาจะไม่ค่อยเป็นมิตรกับหนู หรือกระต่ายเท่าไหร่นัก  อย่างไรก็ตามชิบะ อินุ มีข้อเสียก็ตรงค่อนข้างเอาแต่ใจโดยเฉพาะ ขณะฝึกวินัย บางครั้งถึงกับทำให้เจ้าของปวดหัวกับอาการดื้อของพวกเขา ดังนั้นต้องฝึกฝนพวกเขาเป็นประจำอย่างอดทน  


 การดูแล

     ชิบะ อินุ เป็นสุนัขขนสั้น หนา ง่ายต่อการดูแลรักษา ผู้เลี้ยงควรแปรงขนให้เขาเป็นประจำ เพื่อแปรงเอาขนที่หลุดล่วงออก ส่วนการอาบน้ำควรอาบให้อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ต่อครั้ง ซึ่งปกติแล้วพวกเขาจะถูกเลี้ยงไว้อยู่ในบ้าน จึงไม่สกปรกมาก การอาบน้ำให้แต่ละครั้งมักมีจุดประสงค์เพื่อชำละล้างชั้นขนที่หลุดล่วงตามฤดูกาล นอกจากขนที่ผู้เลี้ยงต้องดูแลแล้ว ฟันก็ควรได้รับการดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อให้พวกเขามีฟันไว้บดเคี้ยวอาหารให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ส่วนการดูแลช่องหู ควรใช้น้ำมัน (Baby oil) และสำลีทำความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อในช่องหู เป็นสาเหตุของหูอักเสบ หรือเกิดการทำลายหูชั้นใน

     ในส่วนของการออกกำลังกาย ควรพาเขาออกไปเดินหรือวิ่งเล่นเป็นประจำทุกวัน  แต่ควรให้ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะไม่หักโหมจนเกินไป  เพราะโดยปกติแล้วชิบะ อินุเป็นสุนัขที่มีความตื่นตัวอยู่ตลอด สามารถวิ่งเล่น ออกกำลังกายด้วยตัวของมันเอง เพียงแต่การพาไปออกกำลังร่วมกับเจ้าของ เป็นเสมือนการฝึกวินัย และสร้างความผูกพันต่อเจ้าของไปด้วยในตัว



 ผู้เลี้ยงที่เหมาะสม

     ชิบะ อินุพวกเขาเป็นสุนัขที่ปรับตัวได้ดีในทุกสภาพแวดล้อม สามารถอยู่ในอพาร์ตเม้นท์ได้อย่างไม่มีปัญหา แต่อาจต้องพาเขาไปออกกำลังกายนอกบ้านเป็นประจำ ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่โล่งกว้างให้เขาได้วิ่งเล่นเขาจะรู้สึกดีมากๆ แต่ควรมีรั้งรอบขอบชิด พวกเขาต้องการความรักและอยู่ร่วมกับครอบครัว ไม่ควรเลี้ยงเขาไว้นอกบ้าน ฝึกวินัยยาก ผู้เลี้ยงจึงต้องมีความอดทนต่อการฝึกพวกเขา





 มาตรฐานสายพันธุ์ 

ขนาด  ส่วนสูงโดยประมาณ 35-43 cm  น้ำหนัก 10 kg เพศเมีย ส่วนสูง โดยประมาณ 33–41 cm  น้ำหนัก 8 kg

ศรีษะ ขนาดศีรษะต้องพอดีกับสัดส่วนลำตัว ศีรษะกว้าง แบน มีร่องที่ศีรษะเล็กน้อย 

ฟัน ฟันแข็งแรง เรียงตัวกันเป็นแนว  มีลักษณะฟันแบบขบกรรไกร คือฟันล่างเกยฟันบน

ปาก ริมฝีปากกระชับ แน่น และดำสนิท

ตา ตาเป็นรูปทรง 3 เหลี่ยม ลึก ตาเฉียงขึ้นไปทางโคนหู ขอบตาดำ นัยน์ตาสีน้ำตาล

หู เป็นทรง 3 เหลี่ยม ตั้งตรง ขนาดเล็กแต่ต้องเป็นสัดส่วนที่พอเหมาะพอดีกับขนาดศีรษะ

จมูก สีดำทั้งจมูก

คอ หนา มั่นคง มีความยาวพอดี

อก  ช่วงอกสวยได้รูป อกลึก ตำแหน่งต่ำสุดอยู่ในระดับครึ่งหนึ่ง หรือน้อยกว่าเล็กน้อยของตำแหน่งที่สูงสุดบนแผ่นหลังถึงพื้น

ลำตัว  แผ่นหลังทรงอยู่ในระดับเดียวกันจนถึงโคนหาง กล้ามเนื้อกระชับกำลังดี  ซี่โครงขยายกำลังดี ช่วงท้องกระชับแข็งแรง ช่วงสะโพกแข็งแรง

เอว -

ขาหน้า  ไหล่ตรง ความยาวเท่ากับช่วงท่อนขาด้านบน ซึ่งทำมุมกันพอดี ข้อศอกอยู้ชิดกับลำตัว ขาหน้าและเท้าตรง มีช่วงว่างระหว่างขาทั้ง 2 ข้างกำลังพอเหมาะพอดี ขนานกัน

ขาหลัง  ขาหลังแข็งแรง กว้าง ท่ายืนมั่นคงเป็นธรรมชาติ ท่อนขาไม่เบี่ยงเข้าหรือออกมากเกินไป หน้าแข้งยาว ท่อนขาหลังสั้นแต่เคลื่อนที่ได้คล่องแคล่ว

หาง  หางหนา มีพละกำลัง ม้วนตั้งขึ้นบนแผ่นหลังเป็นเหมือนรูปเคียว  ความยาวของหางหากปล่อยให้ทิ้งลงกับพื้นจะยาวประมาณช่วงข้อขาที่ต่อมาจากช่วงหน้าขา

ขน เป็นขน 2 ชั้น ขนชั้นนอกจะตรง หยาบ ขนชั้นในเส้นเล็ก นุ่ม และหนาแน่น

สีขน  สีมาตรฐานจะมี สีแดง สีแดงงา (แดงเกือบดำ) และสีดำกับสีน้ำตาลแทน ส่วนขนชั้นล่างจะเป็นสีครีม สีน้ำตาลอมเทา และสีเทา สีครีมถึงสีขาวสามารถมีแต้มได้ที่บริเวณรอบปาก แก้ม ด้านในหู ใต้คาง ข้างใต้คอบริเวณด้านในขา ด้านในท้อง และด้านในหาง  หากเป็นชิบะ อินุสีดำ จะมีสีน้ำตาลแทนหรือน้ำตาลเหลือง  แต้มบริเวณรอบปาก เหนือดวงตา ขนในหู หน้าอก ด้านในขาทั้ง 4 ข้าง และด้านในหาง



 ข้อควรจำ

     ชิบะ อินุมีโรคทางกรรมพันธุ์ คือโรคต้อหิน ต้อกระจก ประสาทตาเสีย สะโพกเสื่อม กระดูกสะบ้าเสื่อม รวมทั้งเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ ดังนั้นผู้เลี้ยงควรสังเกตดูอาการที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพาพวกเขาไปตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อป้องกันโรคอาจเกิดขึ้นทั้งก่อนหรือตามช่วงวัย

คีชอน (Keeshounds )

คีชอน (Keeshounds )
ร่าเริง ตื่นตัว ฉลาดหลักแหลม บุคลิกภาพดี เป็นมิตร


ลักษณะทั่วไป

     คีชอนเป็นสุนัขขนาดปานกลาง ดูแข็งแกร่ง เด็ดเดี่ยว สมกับเป็นสุนัขสายพันธุ์ทางเหนือ มีความคล้ายคลึงกับสุนัขจิ้งจอก ขนฟู หนา หางยกสูงขึ้นพาดบนหลัง สีขนผสมกันระหว่างสีเทา สีดำ และสีครีม ทั้งเชดสีอ่อนและเข้ม สีดำแต้มบริเวณหู กระบอกปาก และเส้นตรงจากหางตาถึงโคนหู ช่วงอายุอยู่ระหว่าง 12-15 ปี

 ความเป็นมา

     คีชอน จะมีต้นกำเนิดแถวบริเวณประเทศที่ใกล้กับขั้วโลก เช่นเดียวกับสุนัขพันธุ์ชามอยด์, เชา เชา, เอลค์ฮาวนด์นอร์เวย์ และปอมเมอเรเนียน เป็นสุนัขที่นำมาเลี้ยงเพื่อเฝ้ายามคอยสอดส่องดูแลไร่นา เรือบรรทุกต่างๆ คีชอนเป็นสุนัขที่เลี้ยงกันมากในประเทศเนเธอร์แลนด์ ช่วงปี ค.ศ. 1700 แล้วได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองดัทช์  แพทริออท และ คอร์เนลิส เดอ เยเซลาร์ ผู้นำพรรคการเมือง  ซึ่งเป็นเจ้าของสุนัขขื่อ คีส และเป็นผู้ตั้งชื่อสุนัขพันธุ์นี้ว่า คีชอน แต่เมื่อพรรคการเมืองพ่ายแพ้การเลือกตั้ง สุนัขพันธุ์คีชอนก็ได้รับความนิยมน้อยลง และจนเกือบสูญพันธุ์หายไป จนกระทั่งหนึ่งร้อยปีต่อมา สายพันธุ์นี้จึงกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

 ลักษณะนิสัย

     คีชอนเป็นสุนัขนิสัยร่าเริง ตื่นตัว ฉลาดหลักแหลม บุคลิกภาพดี เป็นมิตร ต้องการความรักสูง ชอบอยู่กับครอบครัว เข้ากับเด็กๆ ได้ดี ถือได้ว่าเป็นสุนัขที่เหมาะกับการเลี้ยงไว้ให้อยู่ร่วมกับครอบครัว เข้ากับเด็กๆ ได้ดีมากกว่าผู้ใหญ่  พวกเขาชอบออกไปเดินเล่นนอกบ้าน และด้วยสัญชาตญาณของสุนัขที่เลี้ยงไว้เพื่อเฝ้ายามได้อย่างดีเยี่ยม พวกเขาจึงค่อนข้างไวต่อเสียง จะเห่าเมื่อได้ยินเสียงที่ผิดปกติ เพื่อให้เจ้าของรับรู้ แต่ค่อนข้างตื่นตกใจกับสิ่งต่างๆ ได้ง่าย แล้วเมื่อใดที่พวกเขาตื่นเต้นก็จะวิ่งวนไปวนมารอบตัวเองเป็นวงกลม คีชอนบางตัวอาจจะชอบเก็บตัว ดังนั้นถ้าพวกเขามีแนวโน้มขี้ขลาด หรือไม่มั่นใจในตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก ให้พาเขาออกไปเดินเล่น เจอผู้คน หรือสุนัข สัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ ให้เคยชิน เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว สัญชาตญาณนักเตือนภัย คอยระแวดระวังจะเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้เขากลายเป็นสุนัขที่ไม่ไว้ใจใคร ดุร้าย ข่มขู่ และกัดผู้อื่น


 การดูแล

     คีชอนเป็นสุนัขขน 2 ชั้นที่ยาวหนา จึงต้องดูแลมากเป็นพิเศษ ต้องแปรงขนให้เขาเป็นประจำเพื่อไม่ให้เกิดขนสังกะตัง และผลัดขนที่ตายแล้ว  เวลาแปรงขนต้องแปรงตั้งแต่โคนขนที่ติดกับบริเวณผิวหนัง ถ้าเวลาแปรงขนไม่เห็นผิวหนังของเขา ถือว่ายังแปรงผิดวิธี ซึ่งก่อนอาบน้ำควรแปรงขนก่อนทุกครั้ง การอาบน้ำควรอาบให้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ต่อครั้ง เวลาอาบไม่ควรให้น้ำเข้าหูหรือตา และไม่ควรใช้ยาสระผมของคนเพราะผิวหนังของเขาอาจจะเกิดอาการระคายเคืองได้ เนื่องจากขนที่หนามาก ผู้เลี้ยงต้องล้างแชมพูให้หมด อย่าให้เหลือทิ้งไว้ที่ขน เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังเขาได้อีกเช่นกัน ส่วนการไดร์ขนไม่ควรใช้ความร้อนสูงและควรเป่าให้แห้งสนิท ไม่เช่นนั้นความชื้นที่ขน หรือผิวหนังที่ยังอยู่อาจทำให้เกิดผื่นหรือเชื้อราได้ นอกจากขนที่ต้องดูแลรักษาแล้ว หูก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อในช่องหู

     คีชอนต้องการการออกกำลังเป็นประจำทุกวัน ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาจะตื่นตัวมากเวลาอยู่ในบ้าน จึงจำเป็นต้องพาออกไปเผาผลาญพลังงาน หรือสร้างกิจกรรมให้เขาได้ใช้กำลังหรือร่างกายอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน หรือวิ่งเล่นก็ทำให้เขารู้สึกพึงพอใจ โดยเฉพาะการได้เดินเล่นร่วมกับคนในครอบครัว  นอกจากนี้คีชอนเป็นสุนัขที่น้ำหนักขึ้นง่ายมาก ผู้เลี้ยงจะต้องดูแลควบคุมปริมาณอาหารประกอบกับการพาไปออกกำลังกายป้องกันน้ำหนักเกิน  อย่างไรก็ตามพวกเขาเป็นสุนัขขนยาวและหนา ไม่สามารถทนทานได้กับอากาศร้อน เพราะฉะนั้นต้องระวังเรื่องความร้อนภายในร่างกายขณะออกกำลังกาย ไม่ให้เขารู้สึกร้อนจากการเผาผลาญพลังงานจนเกิดไปจนเกิดอาการชักได้


 ผู้เลี้ยงที่เหมาะสม

     โดยธรรมชาติแล้วคีชอนเหมาะที่จะอยู่กับสนามหญ้ามีรั้วเล็กๆ ให้พวกเขาได้วิ่งเล่น ในขณะเดียวกันพวกเขาก็มีเชื้อสายของสุนัขพันธุ์เล็กอยู่ในตัว จึงอยู่ได้ดีในพื้นที่เล็กเช่นกัน  แต่ควรพาพวกเขาออกไปเดินเล่น ออกกำลังกายนอกบ้านประมาณ 1 ชั่วโมงเป็นประจำทุกวัน คีชอนสุนัขขนยาวหนา จึงไม่เหมาะกับอากาศร้อน  หากเลี้ยงควรให้เขาอยู่ในห้องแอร์ และไม่ควรปล่อยทิ้งเขาไว้นอกบ้าน เพราะเขาตื่นตระหนก ปากเปราะ เห่าง่าย แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้เขาอยู่ในบ้านตัวเดียวเป็นระยะเวลานานเช่นกัน เพราะพวกเขาจะรู้สึกวิตกกังวล จนอาจทำลายข้าวของในบ้าง คีชอนจึงเหมาะกับผู้เลี้ยงที่ต้องทำงานนอกบ้าน หรือทำงานไกลบ้าน  การดูแลทำความสะอาดควรแปรงขนให้เขาเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง




มาตรฐานสายพันธุ์

ขนาด  คีชอนมีขนาดปานกลาง แลดูแข็งแรงมั่นคง ส่วนสูงเพศผู้อยู่ที่ประมาณ 17-19 นิ้ว เพศเมียประมาณ 15 – 17 นิ้ว น้ำหนักทั้ง 2 เพศค่อนข้างใกล้เคียงกัน คือประมาณ  25 – 30 กิโลกรัม

ศรีษะ  ขนาดศีรษะควรมีขนาดสมส่วนกับลำตัว เมื่อมองจากด้านบน ลักษณะหัวคล้ายรูปลิ่ม ช่วงจุดหักที่ใบหน้าระหว่างหน้าผากและดั้งจมูกชัดเจน กระบอกปากยาวพอเหมาะ ไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป

ฟัน  ฟันแข็งแรง สีขาวสะอาด มีลักษณะขบแบบกรรไกร คือ ด้านในฟันบนสัมผัสกับด้านนอกของฟันล่าง ไม่ควรมีฟันหน้าของขากรรไกรล่างยื่นออก

ปาก  ริมฝีปากสีดำ กระชับ แต่ไม่หนา แข็งกระด้าง หรือหย่อนคล้อย และไม่มีรอยย่นบริเวณมุมปาก

ตา  ขนาดปานกลาง มีรูปทรงอัลมอนด์ ไม่โตมาก และตาทั้ง 2 ข้าง ต้องไม่อยู่ใกล้กันมากจนเกินไป สีน้ำตาลเข้ม  เส้นขอบรอบดวงตามีสีดำ

หู  รูปทรงสามเหลี่ยม ตั้งขึ้น ขนาดเล็กกำลังดี มีสัดส่วนพอเหมาะเมื่อเทียบกับขนาดศีรษะ มองระยะไกลขอบหูด้านนอกควรวางอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกับหางตา

จมูก จมูกสีดำ มัน เป็นเงา

คอ คอยาวกำลังพอเหมาะพอดี กล้ามเนื้อคอแข็งแรงได้รูป คอโค้งรับกับหัวไหล่อย่างดี แลดูสง่าผ่าเผย

อก อกลึก ขยายกว้าง และแข็งแรง

ลำตัว ลำตัวมีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยม สั้น หลังตรง ค่อยๆ ลาดเอียงเล็กน้อยช่วงโคนหาง  ซี่โครงขยายได้รูป  ช่วงท้องหนา กลมกลึง และแข็งแรง  ความยาวลำตัว เท่ากับความสูงของลำตัว

เอว -

ขาหน้า ขาหน้าตรง รูปขาและกระดูกใหญ่แข็งแรง มีลาดเอียงเล็กน้อย  ช่วงไหล่ทำมุมกับส่วนบนของขากำลังดี

ขาหลัง  ขาหลัง มีกระดูกใหญ่ แข็งแรง ขาหลังท่อนบนมีขนยาว ขนสีครีม เท้าเล็กคล้ายเท้าแมว มีสีครีม เล็บสีดำ

หาง หางยาวปานกลาง ปกคลุมไปด้วยขนเป็นพวงพุ่ม หางตั้งสูง วางตัวพาดยาวอยู่กับแผ่นหลังเสมือนหางเป็นเป็นภาพเงาหนึ่งของคีชอน มากกว่าจะปรากฏให้เห็นชัดว่าเป็นอวัยวะของร่างกาย

ขน  ขนยาว ตรง ขนชั้นนอกกระด้าง ฟู หนา  ส่วนขนชั้นในอ่อน บริเวณใบหน้า ปาก หู  ศีรษะ ควรเป็นขนนุ่ม เส้นเล็ก และสั้น  โดยเฉพาะขนที่หูจะนุ่มและบางคล้ายกำมะหยี่  ขนที่คอฟูฟ่องเป็นแผง ซึ่งเพศผู้จะมีเยอะมากเป็นพิเศษ  ปกคลุมตั้งแต่ขากรรไกร ไปจนถึงไหล่และ หน้าอก ส่วนขนบริเวณขาสั้น เนียน ยกเว้นด้านหลังของขาท่อนบนที่ค่อนข้างยาว  ขนบริเวณหางยาว หนาแน่น ฟูเป็นพวง
สีขน

  สีขนจะเป็นสีผสมปนกันของสีเทา สีดำ และสีครีม หลากหลายเชดสีตั้งแต่สีอ่อนไปถึงสีเข้ม  ขนชั้นนอกจะยาว สีดำ หรือเทา ส่วนขนชั้นในจะเป็นสีครีมหรือเทาอ่อน มักอยู่บริเวณขา แผงคอ สะโพก และด้านในหาง


ข้อควรจำ

     คีชอนเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกสะโพกเสื่อม กระดูกสะบ้าเคลื่อน ลมบ้าหมู โรคคุชชิ่ง ซึ่งเป็น กลุ่มอาการผิดปกติของร่างกายที่เกิดจากการมีฮอร์โมนสเตอรอยด์ในเลือดสูงกว่าปกติ ก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ส่งผลต่อการเจริญเติบโต ความผิดปกติของน้ำหนัก หรือขนร่วงได้ นอกจากนี้ยังมีโรคเกี่ยวกับความผิดปกติในการแข็งตัวของเกล็ดเลือด และอาการที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงควรสังเกตเมื่อพวกเขามีอาการผิดปกติ และควรพาไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

ไซบีเรียน ฮัสกี้ (Siberian Husky )

ไซบีเรียน ฮัสกี้ (Siberian Husky )
สวยสง่า มีหน้าตาเป็นอาวุธ


ลักษณะทั่วไป

     ไซบีเรียน ฮัสกี หรือเรียกสั้นๆว่า ไซบีเรียน สุนัขขนาดกลาง ขนฟูแน่น แข็งแรง คล่องแคล่ว มีหน้าตาเป็นอาวุธ เพราะ หน้าดุ ทำให้คนสามารถกลัวได้ ลักษณะจะเหมือนหมาป่า แต่จริงๆแล้วไม่ดุอย่างหน้าตาหรอกนะ เป็นมิตรกับคนและเข้ากับคนได้ง่าย สุนัขพันธุ์ไซบีเรียนนี้จะรู้จักกันดีในกีฬาลากเลื่อนที่เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยม




 ความเป็นมา

     ไซบีเรียน อัสกีนี้มีต้นกำเนิดในตะวันออกของไซบีเรีย คำว่า “ฮัสกี้” ได้มาจากชื่อที่ใช้เรียกชาวอินนูอิต(Inuit) โดยเพาะพันธุ์มากจากสุนัขในวงศ์สปิตซ์(สุนัขขนยาวและหนา)ของชาวชุกซี ต่อมาได้ถุกนำเข้ามาในอลาสกาและแพร่พันธุ์เข้าสู่สหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา จนพัฒนามาเป็นสุนัขลากเลื่อนเมื่อประมาณ ค.ศ.1900 ต่อมาจึงนำมาไซบีเรียนเลี้ยงเป็นสุนัขตามบ้าน



 ลักษณะนิสัย

     ไซบีเรียนเป็นสุนัขที่ฉลาด ไฮเปอร์ตื่นตัว พลังงานสูง สมาธิค่อนข้างสั้น รักอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เข้าขั้นเรียก่า ดื้อ ขี้บ่น ขี้เถียง ฝึกยาก เป็นนักทำลายข้าวของตัวยง แต่ไซบีเรียนเป็นน้องหมาที่เป็นมิตรกับทุกคน ไม่ว่าจะคุ้นหน้า หรือแปลกหน้า ไหวพริบดี ฉลาดแกมโกง ซึ่งไหวพริบกับความฉลาดที่มีของพวกเขานั้นไม่ค่อยได้เอาไปใช้ประโยชน์สักเท่าไหร่ โดยส่วนมากจะเป็นเล่ห์เหลี่ยมเพื่อหาทางซุกซนเสียมากกว่า ไซบีเรียนฮัสกี้ชอบหอนมากกว่าเห่า จนกลายเป็นปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัวและเพื่อนบ้าน พวกเขาค่อนข้างฝึกยาก จึงควรได้รับการฝึกอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำทุกวัน วันละ 10 - 15 นาที แต่ควรได้รับการออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันมากกว่า 15 นาที โดยการวิ่ง เพื่อให้พวกเขาได้เผาผลาญพลังงาน ไม่ซุกซนจนเกินควร 


 การดูแล

     การให้อาหารสุนัขไซบีเรียนนั้น จะให้ 2-3 ครั้ง/วัน ได้ แต่สุนัขพันธุ์นี้จะค่อนข้างกินอะไรยากอยู่เช่นกันหากไม่ถูกปาก มันจะยอมอดอาหารได้ 3-4 วัน ดังนั้นวิธีการที่จะกระตุ้นความอยากอาหารได้คือการพาสุนัขไปออกกำลังกาย ส่วนของอาหารนั้นผู้เลี้ยงสามารถสามารถนำอาหารสำเร็จรูปมาผสมกับอาหารอื่นได้เพื่อเพิ่มรสชาติและอรรถรสในการกินมากขึ้น อาหารที่สุนัขไซบีเรียนโปรดปรานที่สุด คืออาหารที่มีปลาผสมอยู่ในอาหาร สุนัขจะกินหมดได้อย่างรวดเร็ว

     ส่วนเรื่องของการทำความสะอาดนั้น ไม่ควรอาบน้ำบ่อยเกินไป อาบ2-3 สัปดาห์ต่อครั้งก็พอ เพราะไซบีเรียนนั้นเป็นสุนัขสะอาด ไม่มีกลิ่นตัว หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สกปรกก็ไม่จำเป็นต้องอาบน้ำบ่อยๆ ก็ได้ ที่สำคัญเวลาอาบน้ำต้องใช้แชมพูอาบน้ำสุนัขโดยเฉพาะ ควรมีความอ่อนโยนมากๆ และหลังจากอาบน้ำเสร็จแล้วจะต้องใช้ไดร์เป่าขนให้แห้งสนิท อาจใช้ระยะเวลานาน แต่เพื่อไม่ทำให้น้องไซบีเรียนเป็นโรคผิวหนัง

     เรื่องของขนสุนัขไซบีเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญที่ผู้เลี้ยงควรใส่ใจ หากอยู่ในช่วงฤดูผลัดขนนั้น มันจะมีปริมาณขนที่ผลัดออกมาเยอะมากๆ ฉะนั้นผู้เลี้ยงควรจะต้องมั่นดูแล และแปรงขน เพื่อไม่ให้เกิดขนพันกัน ส่วนเรื่องของสุขภาพของสุนัขก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและผู้เลี้ยงควรจะให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยสร้างสุขภาพที่ดีแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพจิตของสุนัขดีขึ้นด้วย ควรใช้เวลาการออกกำลังกาย 15 นาที/วัน ดีที่สุดและทำทุกๆวัน

     ผู้เลี้ยงจะต้องทราบว่าหากไม่ได้พาสุนัขไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไซบีเรียนจะกลายเป็นตัวยุ่ง ก่อความรำคาญในทันที เพราะมันจะเกิดความเบื่อหน่าย จึงต้องหาอะไรทำเพื่อลดออาการเบื่อหน่ายลงไป อีกทั้งการออกกำลังกายยังเป็นการช่วยกนะตุ้นให้ไซบีเรียนนั้นอยากอาหารไปในตัวอีกด้วย


ผู้เลี้ยงที่เหมาะสม

     ไซบีเรียนเหมาะสำหรับคนที่พร้อมจะดูแล มีเวลาให้ และให้ทุกอย่างที่มันต้องการได้ ไม่ว่าจะออกกำลังกาย และมิตรภาพจากเจ้าของ เพื่อสร้างมิตรภาพระหว่างเจ้านายกับสุนัข จะทำให้สุนัขเชื่อฟังและไม่ดื้อกับเจ้าของของมัน



 มาตรฐานสายพันธุ์

ขนาด ความสูงของเพศผู้อยู่ที่ 21 - 23.5 นิ้ว ขณะที่ความสูงของเพศเมียอยู่ที่ 20 - 22 นิ้ว

ศรีษะ มีขนาดปานกลางสมส่วนกับลำตัว หัวกะโหลกมีลักษณะกลม หัวกะโหลกระหว่างหูจะกว้าง และเรียวลงจรดตาทั้งสองข้าง

ฟัน ขาว สะอาด เป็นลักษณะขบกรรไกร

ปาก ความยาวของปากมีขนาดใกล้เคียงกับความยาวของหัวกะโหลก ปากมีความกว้างพอประมาณ สันปากตรง โคนปากใหญ่ และเรียวลงจรดปลายจมูก ริมฝีปากตึง มีสีเข้ม

ตา มีลักษณะรูปกลมรี อยู่ห่างกันพอประมาณ สีตาจะมีสีฟ้าหรือน้ำตาลเข้ม , เขียว , น้ำตาลอ่อน , เหลือง และแก้วตาหลายสี เช่น เหลืองข้างหนึ่ง ฟ้าข้างหนึ่ง

หู มีขนาดปานกลาง อยู่ในรูปสามเหลี่ยมส่วนปลายของหูนั้นจะมน ลักษณะเหมือนหูผึ่ง

จมูก ส่วนจมูกจะมีสีดำแซมด้วยสีเทาในสุนัขที่แทนและสีดำ สีเลือดหมูในสุนัขสีทองแดง และจะมีสีเนื้อในสุนัขสีขาว

คอ มีความยาวปานกลาง ในท่ายืนจะดูสง่าคอตรง เมื่อวิ่งหรือเดิน จะมีลักษณะโค้ง และคอจะยืดไปด้านหน้า

อก ไม่กว้างเกินไป จุดที่ลึกที่สุดอยู่ด้านหลังและเป็นระดับเดียวกันกับข้อศอก กระดูกซี่โครง
มั่นคงเชื่อมต่อจากกระดูกสันหลัง มีลักษณะแบนด้านข้างเพื่อให้เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ

ลำตัว ความยาวของลำตัวยาวกว่าส่วนสูงเล็กน้อย ช่วงอกลึกเล็กน้อย ซี่โครงขยายกว้าง แต่ด้านข้างจะแบนเล็กน้อย เพื่อการเคลื่อนไหวที่คล่องตัว หลังตรงและแข็งแรง

เอว -

ขาหน้า ขาจะมีช่องว่างห่างกันเล็กน้อยพอประมาณ ขนานและตั้งตรง ข้อศอกจะติดกับลำตัว

ขาหลัง ท่อนบนจะมีกล้ามเนื้อที่ดูแข็งแรง ขาหลังทั้งสองข้างจะตั้งตรงและขนานกัน ห่างกันพอประมาณ

หาง จะเหมือนพู่เหมือนหางหมาจิ้งจอก รูปโค้งเหนือหลังและลากไปทางด้านหลังเมื่อเคลื่อนไหว

ขน ไซบีเรียนจะมีขน 2 ชั้น มีความยาวปานกลาง โดยขนชั้นในจะนุ่ม ขนชั้นนอกจะตรงเหยียดเรียบไม่หยาบ

สีขน มีทุกสีตั้งแต่สีดำไปจนถึงสีขาวล้วน จะมีสีแต้มหรือตำหนิบนศีรษะ และลำตัว



ข้อควรจำ

     เป็นสุนัขที่ไม่ชอบเห่า แต่ชอบหอนเป็นที่สุด แถมยังเป็นสุนัขที่รักอิสระ ไม่ควรอย่างยิ่งหากจะบังคับให้เค้าทำอะไรมากๆโดยไม่จำเป็น หากทำอะไรรุนแรง เจ้าไซบีเรียนก็ไม่ไว้ใจและระแวงในที่สุด

อลาสกัน มาลามิวท์ (Alaskan Malamute)

อลาสกัน มาลามิวท์ (Alaskan Malamute)
แข็งแรง ใจดี รักสะอาด


ลักษณะทั่วไป
     อลาสกัน มาลามิวท์ เป็นสุนัขพันธุ์เก่าแก่ที่สุดพันธุ์หนึ่งที่ใช้สำหรับลากเลื่อนในเขตอาร์คติก มีลักษณะ อกลึก กล้ามเนื้อแข็งแรงมาก เมื่อยืนตรงมีความสง่างามหัวเชิดสูง สายตาแสดงความตื่นตัว อยากรู้อยากเห็น และเป็นมิตร กระโลกศีรษะกว้าง หูตั้งเป็นรูปสามเหลียม กระบอกปากเรียวเล็กน้อย ไม่แหลม ไม่ยาว แต่ก็ไม่สั้น ขนชั้นนอกหยาบหนา ขนชั้นในอ่อนนุ่ม มาลามิวท์มีหลายสี มาร์กกิ้งบนหน้ามีลักษณะเฉพาะ สีบนหัวลักษณะเหมือนสวมหมวก หน้าอาจสีขาวทั้หมดหรือลักษณะเหมือนสวมหน้ากากและ/หรือมีแถบสี หางเป็นพวงพอดีโค้งไปบนหลัง มีกระดูกใหญ่ ขาแข็งแรง เท้าเหยียบมั่นคง อกลึกไหล่มีพลัง มีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมกับการลากเลื่อน การวิ่งย่างก้าวได้มั่นคง สมดุล เหมือนไม่รู้จักเหนื่อย แต่ไม่เหมาะสมกับการลากเลื่อนเพื่อแข่งขันด้านความเร็ว แม้จะแข็งแรงอดทน


 ความเป็นมา

     อลาสกัน มาลามิวท์ เป็นสุนัขลากเลื่อน (Sled) แถบอาร์ติกที่เก่าแก่ที่สุดพันธุ์หนึ่ง ได้ตั้งชื่อตามชาวเผ่าพื้นเมืองอินนุยท์ (Innuit) ที่มีชื่อว่า มาลามิว (Mahlamuts) ผู้ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่แถบชายฝั่งโค เซบู เซาด์ (Kot - zebue sound) ในทางตะวันตกตอนบนอลาสก้า ระยะเวลาก่อนหน้าที่อลาสก้าจะตกมาอยู่ภายใต้การครอบครองของสหรัฐอเมริกา



 ลักษณะนิสัย

     อลาสกัน มาลามิวท์ เป็นสุนัขที่มีอุปนิสัยขี้อ้อน เป็นมิตร ซื่อสัตย์ จงรักภักดี รักสันโดษและอาจดื้อบ้างในบางครั้ง โดยพวกเขามีความเป็นตัวของตัวเองสูง จึงอาจไม่ฟังคำสั่งได้ตามแต่กาลโอกาส เว้นเสียแต่ได้รับของรางวัล หรือสิ่งตอบแทนมาล่อใจ พวกเขาเป็นมิตรและมักอารมณ์ดี เมื่อได้อยู่ร่วมกับมนุษย์ ทว่าเจ้าของจำเป็นต้องฝึกให้เข้าสังคมมากพอ เพื่อทำให้พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับสุนัขตัวอื่นโดยปกติสุข
     
     สหรับคนที่คิดว่าน้องหมาอลาสกัน มาลามิวท์ตัวใหญ่จะต้องดุร้าย ก้าวร้าว เหมาะกับเป็นน้องหมาอารักขา เลี้ยงไว้สำหรับเฝ้าบ้าน ป้องกันขโมย อาจจะต้องคิดใหม่ค่ะ เพราะเห็นพวกเขาตัวใหญ่อย่างนี้ กลับเป็นน้องหมาที่ต้องหารความรัก การดูแลเอาใจใส่สูง เป็นมิตรแม้แต่คนแปลกหน้า ไม่ค่อยเห่าพร่ำเพรื่อ ออกจะเคลื่อนไหวเชื่องช้า ชอบนอนอยู่กับเจ้าของ เอาอกเอาใจเจ้าของ แม้จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูงเช่นเดียวกับไซบีเรียน ฮัสกี้ก็ตาม แต่ทว่าพวกเขาไม่ไฮเปอร์ ทำลายบ้านเรือน ทะลึ่งตึงตัง แสบสันเท่ากับไซบีเรียนฮัสกี้  


 การดูแล

     อลาสก้า มาลามิว เป็นสุนัขที่ต้องได้รับการดูแลขนเป็นพิเศษ เนื่องจากพวกเขามีขนดก และหนา โดยการแปรงขนให้วันละ 5 นาที ถือว่าเหมาะที่สุด ทั้งนี้ อลาสก้า มาลามิวเพศผู้จะผลัดขน ปีละหนึ่งครั้ง ส่วนในเพศเมียปีละ 2 ครั้ง ทำให้ผู้เลี้ยงอาจประสบปัญหาบ้างในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พวกเขาเป็นสุนัขที่ไม่มีกลิ่นตัว จึงไม่จำเป็นต้องอาบน้ำให้บ่อยจนเกินไป

     ด้านการออกกำลังกาย อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นแล้วว่า อลาสก้า มาลามิว เป็นสุนัขที่มี พละกำลังมาก ทำให้เขาต้องการการออกกำลังกายสูง เพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินทิ้งไป ผู้เลี้ยง จำเป็นต้องพาเขาไปออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 60-80 นาที โดยอาจเป็นการวิ่ง หรือการละเล่น อื่นใดที่ทำให้เขาได้ใช้พลังงานอย่างเต็มที่

     สำหรับเรื่องโภชนาการ ก็เช่นเดียวกับสุนัขพันธุ์อื่น ผู้เลี้ยงควรให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป มากกว่าอาหารปรุงเอง เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมและครบถ้วนมากกว่า ทั้งนี้ ในช่วง อายุ 5 เดือนขึ้นไป อลาสก้า มาลามิว จะโตเร็วกว่าสุนัขพันธุ์อื่นๆ ทำให้น้ำหนักตัวอาจเพิ่มอย่างรวดเร็ว จึงอาจมีปัญหาในการรับน้ำหนักอันเนื่องมาจากกระดูกที่โตช้ากว่านั่นเอง



 ผู้เลี้ยงที่เหมาะสม

     เหมาะสำหรับผู้เลี้ยงที่กระฉับกระเฉงและมีเวลาว่างมากพอที่จะพาพวกเขาไปปลดปล่อยพลังงาน ที่มีอยู่อย่างล้นเหลือด้วยการพาไปออกกำลังกาย ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว อลาสกัน มาลามิวท์ตัวใหญ๋มากๆ ถ้าไม่ระมัดระวังเป็นอย่างดีอาจจะทำให้มีน้ำหนักเกินได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความสะอาดขน ควรแปรงขนเป็นประจำทุกวัน เพื่อจัดการขนที่ร่วง ระมัดระวังผิวที่เปราะบาง แพ้ และแห้งง่าย หากขนเปียกน้ำ หรืออาบน้ำให้แก่พวกเขา ต้องเป่าไม่แห้ง เนื่องจากขนที่หนาอาจทำให้เกิดการอับชื้นที่ผิวหนัง ทำให้เป็นเชื้อรา หรือเกิดการอักเสบที่ผิวหนังได้ 



  มาตรฐานสายพันธุ์

ขนาด เพศผู้สูง 25 นิ้ว หนัก 85 ปอนด์ เพศเมียสูง 23 นิ้ว หนัก 25 ปอนด์

ศรีษะ  ควรมีความกว้างอยู่ระหว่างหูทั้งสองข้างแล้วค่อย ๆ แคบลงทีละน้อยจนถึงดวงตา ควรมีสันนูนขึ้นเล็กน้อยระหว่างดวงตา เส้นบนสุดของกะโหลกศีรษะและเส้นขอบบนสุดของจมูกเป็นเส้นหักเล็กน้อยลาดลงมา

ฟัน  ขากรรไกรบนและล่างกว้างและมีฟันใหญ่ ฟันหน้าสบกันแน่น ขากรรไกรบนและล่างไม่ยื่น

ปาก ริมฝีปากปิดสนิท

ตา สีน้ำตาล ยาวรีคล้ายผลอัลมอนด์ ตาสีดำจะเป็นที่นิยม

หู  ควรมีขนาดปานกลาง แต่จะเล็กเมื่อเทียบกับศีรษะ ส่วนครึ่งบนของหูเป็นรูปสามเหลี่ยม กลมเล็กน้อยที่ตรงปลาย เมื่อตั้งตรงหูจะชี้ไปข้างหน้าเล็กน้อย แต่เมื่อสุนัขทำงานบางครั้งหูจะม้วน หูที่อยู่ในตำแหน่งสูงเป็นข้อบกพร่อง

จมูก  ควรมีขนาดใหญ่และล่ำสัน ค่อย ๆ ลดความกว้างและลึกลงทีละน้อยจากจุดต่อกับกะโหลกศีรษะมายังปลายจมูก ปลายจมูกเป็นสีดำ 

คอ ควรแข็งแรงและโค้งพอประมาณ

อก  หน้าอกควรแข็งแรงและกว้าง มีโครงสร้างกระชับแต่ไม่สั้น หลังควรเป็นแนวเส้นตรงค่อย ๆ ลาดเอียงไปทางสะโพก บั้นเอวควรมีกล้ามเนื้อและไม่สั้นเกินไป เพราะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวที่ง่ายดายและเป็นจังหวะ

ลำตัว ลำตัวใหญ่ หนา เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ความกว้างของลำตัวและส่วนสูงใกล้เคียงกันกำลังดี 

เอว -

ขาหน้า  กระดูกขาหน้าใหญ่และมีมัดกล้ามเนื้อเป็นแนวเส้นตรงไปจนถึงข้อเท้าซึ่งควรสั้นและแข็งแรงและเกือบอยู่ในแนวดิ่ง เมื่อมองจากด้านข้างเท้าควรใหญ่และแน่น นิ้วเท้าเรียงชิดติดกันและงุ้มสวยงามอุ้งเท้าหนาและแข็งแรงเล็บเท้าสั้น ควรมีการป้องกันการเจริญเติบโตของขนระหว่างนิ้วเท้า 

ขาหลัง  ขาหลังต้องกว้างและมีพละกำลัง มีมัดกล้ามเนื้อไปจนถึงต้นขาเข่าโค้งงอพอสมควร ข้อขาหลังกว้างและแข็งแรง โค้งงอพอประมาณและทอดลงได้รูปสวยงาม เมื่อมองจากด้านหลังกระดูกควรมีลักษณะโค้ง แต่ยืนและเคลื่อนที่อย่างแท้จริงในแนวเส้นตรงโดยการขับเคลื่อนของขาหน้า และไม่แนบชิดหรือกว้างเกินไป

หาง  มีขนาดพอเหมาะ มีขนปกคลุมดีและชูอยู่เหนือหลังเมื่อยังไม่ทำงาน ไม่มีลักษณะม้วนงอแน่น ขนที่หางต้องไม่สั้นมีลักษณะเหมือนสุนัขจิ้งจอกเป็นพุ่มกวัดแกว่งไปมา

ขน  ควรมีขนปกป้องลำตัวหยาบ หนา ไม่ยาวและไม่อ่อนนุ่ม ขนชั้นในดก หนาแน่น มีความยาว 1-2 นิ้ว มีน้ำมันหล่อและขนละเอียด ขนที่หยาบจะอยู่ด้านนอก มีแผงขนหนารอบคอ โดยทั่วไปขนค่อนข้างสั้น ขนจะยาวมากขึ้นบริเวณรอบบ่าและคอไล่ลงมาที่หลังและเหนือบริเวณส่วนท้าย รวมทั้งส่วนก้นจนถึงพวงหาง พันธุ์มาลามูทตามปกติจะมีขนสั้นกว่าและหนาแน่นน้อยกว่าเมื่อผลัดขนในช่วงระหว่างฤดูร้อน

สีขน  ตามปกติจะมีตั้งแต่สีเทาจาง สีเข้มข้นจนอยู่ในระดับดำปานกลางจนถึงสีดำ มักจะสีขาวอยู่ใต้ลำตัวส่วนของเท้า ขาและส่วนของหน้ากาก ควรเป็นลักษณะคล้ายหมวกแก๊ป และเหมือนหน้ากากอยู่บนใบหน้า สีขาวสดที่หน้ากากหรือรอบคอหรือจุดบนด้านหลังของคอเป็นสิ่งที่สวยงามและยอมรับได้ แต่จุดหรือแถบสีที่กระจายอยู่ทั่วตัวไม่เป็นที่นิยม เราควรแยกระหว่างสุนัขที่มีปกคลุมกับสุนัขที่มีแต้มสี สีเดียวทั้งตัวที่ยอมรับคือสีขาว



ข้อควรจำ

       อลาสกัน มาลามิวท์มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคสะโพกเคลื่อนได้เช่นเดียวกับไซบีเรียน ฮัสกี้ ควรพาพวกเขาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป หากเลี้ยงในประเทศเขตร้อนควรระวังอาการฮีตสโตรกที่จะเกิดขึ้นระหว่าการออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังอาจเสี่ยงต่อปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง และ กระเพาะบิด ควรให้รับประทานอาหารแต่พอดี 

เจแปนนิส ชิน (Japanese Chins)

เจแปนนิส ชิน (Japanese Chins)
ฉลาด มีไหวพริบ คล่องแคล่ว ขี้เล่น


ลักษณะทั่วไป

     เจแปนนิส ชิน เป็นสุนัขที่มีรูปร่างเล็ก ขนยาวปานกลาง มีลักษณะคล้ายสุนัขพันธุ์ชิสุ แต่ว่ามีขนบริเวณศีรษะและใบหน้าค่อนข้างสั้น สีขนทั่วไปจะเป็นสีขาวสลับสีดำ หรือ สีขาวสลับแดง อุปนิสัยค่อนข้างอ่อนไหวง่าย ฉลาด มีไหวพริบ เจแปนนิส ชิน เป็นสุนัขที่เกิดขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์สำหรับเป็นเพื่อนกับมนุษย์โดยเฉพาะ เขาจึงต้องการความรักสูง พวกเขาคล่องแคล่ว ขี้เล่น ง่ายต่อการถูกฝึกสอนให้แสดงโชว์หรือเล่นเกมต่างๆ


 ความเป็นมา

     เจแปนนิส ชิน มีประวัติต้นกำเนิดที่ยาวนาน และยังไม่สามารถรู้แน่ชัดว่าเกิดขึ้นมาจากประเทศใด บ้างกล่าวว่า ต้นกำเนิดและการพัฒนาสายพันธุ์ มาจากถิ่นพื้นเมืองของประเทศจีน พวกเขาเป็นสุนัขที่ขึ้นชื่อเรื่องความซื่อสัตย์และความน่ารัก สามารถเป็นที่รักได้กับทุกๆ คน  ในสมัยก่อนเจแปนนิส ชินได้รับการผสมพันธุ์เพื่อเป็นเพื่อนกับกลุ่มหญิงสาวผู้สูงศักดิ์ในราชวัง นอกจากนี้พวกเขายังถูกนำมาเป็นภาพประกอบอยู่บนเครื่องปั้นดินเผาและลายเย็บปักถักร้อยเมื่อร้อยกว่าปีก่อน แต่สุนัขพันธุ์นี้คนทั่วไปไม่สามารถหาซื้อได้ เนื่องจากพวกเขาจะถูกเลี้ยงและเก็บไว้เฉพาะชนชั้นสูง อย่างไรก็ตามในบางหลักฐานกล่าวว่า ต้นกำเนิดของเจแปนนิส ชิน เริ่มแรกเดิมทีอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ช่วงประมาณ ค.ศ. 732 เป็นสุนัขที่มีไว้สำหรับมอบเป็นของขวัญให้แก่ครอบครัวของราชวงศ์เกาหลีและญี่ปุ่น รวมทั้ง บรรดาขุนนาง และชาวต่างชาติที่ทำงานรับให้ญี่ปุ่น  จนกระทั่งร้อยกว่าปีต่อมา เพอรรี่ ผู้บังคับการเรือชาวอเมริกัน ได้นำสุนัขพันธุ์นี้เข้าไปยังประเทศอังกฤษ จนกลายเป็นที่นิยมทางฝั่งตะวันตก



 ลักษณะนิสัย

     เจแปนนิส ชิน เป็นสุนัขที่มีนิสัยร่าเริง สดใส ตื่นตัว ซื่อสัตย์ ว่องไว อ่อนไหว อ่อนโยน เป็นมิตร และขี้เล่น  ด้วยเหตุที่พวกเขาเป็นสุนัขที่ผสมพันธุ์ขึ้นมาเพื่อเป็นเพื่อนมนุษย์และครอบครัว พวกเขาจึงค่อนข้างอ่อนไหวง่าย และต้องการความรัก การดูแลเอาใจใส่สูง ยิ่งผู้เลี้ยงดูแลและให้ความรักได้ดีเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งรักได้มากเท่านั้น พวกเขาเข้าได้ง่ายกับคนแปลกหน้า สัตว์ตัวอื่น ปรับตัวได้ดีกับสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย อย่างไรก็ตาม เจแปนนิส ชิน พวกเขามีข้อเสียเล็กน้อย ตรงที่ต้องการการเอาใจใส่มากจนติดนิสัยเอาแต่ใจ ต้องการเป็นจุดสนใจ  และถ้าพวกเขาไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เขาก็จะเกิดอาการอิจฉา อารมณ์ไม่ดี วิตกกังวล



 การดูแล

     เจแปนนิส ชิน มีขนยาวควรได้รับการแปรงขนประมาณ  3-4  นาทีเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ขนสวยและดูเงางามอยู่เสมอ ขนของเจแปนนิส ชินเป็นขนชั้นเดียว มีการพลัดขนปานกลาง ควรอาบน้ำให้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ต่อครั้ง ใช้แชมพูที่อ่อนโยนเป็นพิเศษต่อผิว ควรหลีกเลี่ยงครีมนวด  หากไม่สกปรกมากนัก การแปรงขนเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา การดูแลรักษาตาสำคัญมากสำหรับสุนัขพันธุ์นี้ ควรทำความสะอาดเป็นประจำทุกวัน หูก็เช่นกัน เพราะอาจจะพบสัญญาณของการติดเชื้อได้ ส่วนการดูแลรักษาฟันก็ควรรักษาให้สะอาดเช่นกัน เพราะการคอยตรวจเชคและดูอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ฟันของพวกเขาอยู่ได้นานมากขึ้น  นอกจากนี้ควรตรวจดูเล็บเท้า หากยาวให้ตัดบริเวณปลายเล็บออก

     การออกกำลังกาย เจแปนนิส ชินต้องการการออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย เพราะพวกเขาเป็นสุนัขที่มีพลังงานต่ำ ควรให้เขาออกกำลังกายวันเว้นวันเป็นอย่างมาก หรือ 2-3 วันต่อครั้ง พวกเขาชอบเดินมากกว่าวิ่ง ซึ่งการออกกำลังกายแต่พอดีทำให้เขารู้สึกพึงพอใจและมีความสุข แต่ต้องระวังสุนัขตัวอื่นพยายามเข้ามาจู่โจม หรือเข้ามาเล่นด้วยความรุนแรงเพราะจะทำให้พวกเขาตกใจ


 ผู้เลี้ยงที่เหมาะสม

     เจแปนนิส ชิน เป็นสุนัขขนาดเล็กต้องการพื้นที่ในการอยู่อาศัยน้อย ชอบอยู่เงียบๆ ภายในบ้าน สามารถหากิจกรรมเล่นยามว่างได้เอง จึงเหมาะกับผู้เลี้ยงที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเม้นท์ อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ต้องการออกไปเดินเล่น  หรือวิ่งเล่นที่สนามหญ้าโล่งกว้างบ้างประมาณ วันเว้นวัน หรือ 2 วันต่อครั้ง ผู้เลี้ยงควรมีเวลาแปรงขนให้เขาเป็นประจำทุกวัน  มีเวลาอยู่กับเขา ใส่ใจและให้ความรักเขาอย่างเพียงพอ เจแปนนิส ชินเป็นสุนัขที่ไม่ค่อยเห่า แต่จะเห่าเพื่อให้คนแปลกหน้าตื่นตัว หรือตื่นตกใจ พวกเขาจึงเหมาะกับเป็นสุนัขที่มีไว้เฝ้าบ้านด้วย



 มาตรฐานสายพันธุ์

ขนาด  เพศผู้และเพศเมียมีขนาดใกล้เคียงกัน คือ ส่วนสูงประมาณ 7 – 11 นิ้ว และน้ำหนักประมาณ 1.8 กิโลกกรัม ถึง 6.8 กิโลกรัม

ศรีษะ  ใหญ่และกว้าง กลมเล็กน้อยระหว่างหูทั้ง 2 ข้าง หน้าผากยื่นออกมาโดนเด่นสะดุดตา  ช่วงศีรษะระหว่างตาทั้ง  2 ข้างห่างกัน จุดหักระหว่างหน้าผากกับดั้งจมูกลึก สันจมูกสั้นกลม
ฟัน ขากรรไกรกว้าง มีฟันหน้าของขากรรไกรล่างยื่นออกมาเล็กน้อย

ปาก  ปากกว้าง รูปปากโค้งต่ำ ติดกับจมูก หากอ้าปากจะมีลักษณะยิ้ม ริมฝีปากบางกระชับมีสีดำ หรือสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ

ตา  ตากลม โต อยู่ห่างกัน นัยน์ตาสีเข้ม เป็นประกาย พื้นที่สีขาวนิดๆ ที่มุมหัวตา ขับเน้นให้ดวงตาดูเหมือนกำลังประหลาดใจหรือฉงนสงสัยอยู่ตลอดเวลา

หู  หูรูปทรงตัววี (V) เล็ก ทิ้งลง อยู่ห่างกัน โคนหางอยู่ต่ำกว่าจุดสูงสุดของศีรษะเล็กน้อย ใบหูกระชับ เมื่อตื่นตัวหูจะหันไปด้านหน้าและลู่ไปด้านล่าง

จมูก  จมูกสั้น กว้าง รูจมูกเปิด  ตั้งอยู่ระหว่างดวงตาทั้ง 2 ข้าง เชิดขึ้นด้านบน  จมูกสีดำ หรือ ดำเจือสีแดง เจือสีขาว หรือตามสีขน

คอ ความยาวและความหนากำลังพอดี ตั้งอยู่บนช่วงไหล่มั่นคง แลดูสง่างาม

อก ซี่โครงอกลึกขยายไปถึงช่วงข้อศอก

ลำตัว รูปทรงลำตัวเป็นทรง 4 เหลี่ยม ช่วงรอบซี่โครงอกกว้างกำลังพอดี

เอว -

ขาหน้า ขาหน้าตรง รูปกระดูกสวย ข้อศอกตั้งอยู่ใกล้กับลำตัว

ขาหลัง ขาหลังตรง กระดูกขาสวยได้รูป บริเวณหน้าขาช่วงต้นขาโค้งกำลังดี

หาง หางตั้งสูง โค้งขึ้นที่หลัง พาดทิ้งลงบนข้างใดข้างหนึ่งของลำตัว

ขน
  ขนตรง ดก เส้นบางนุ่มเหมือนแพรไหม  ขนหนาเป็นพิเศษบริเวณคอ ไหล่ บริเวณอก และช่วงบั้นท้าย  ขนบริเวณหางเป็นพวงพุ่ม และมีลักษณะการเรียงตัวของเส้นขนคล้ายขนนก ขนที่ศีรษะและรอบปากสั้น ยกเว้นขนบริเวณหูที่ค่อนข้างยาว  ส่วนขาหน้าสั้น โดยเฉพาะช่วงขาท่อนล่างถึงเท้า แต่ด้านหลังของขาค่อนข้างยาว

สีขน  สีขนสามารถเป็นได้ทั้ง สีดำกับสีขาว สีแดงกับสีขาว สีดำกับสีขาวแต้มสีน้ำตาลแดงเป็นจุดๆ  ซึ่งจุดสีน้ำตาลแทน หรือสีแดง สามารถแต้มได้บริเวณเหนือดวงตา แก้มทั้ง 2 ข้าง และแต้มบริเวณใกล้กับทวารหนัก หากบริเวณนั้นไม่ได้มีแค่ขนสีดำ ขนสีแดง
สามารถมีเชดสีได้หลากหลาย เช่น เชดสีส้ม สีเลมอน สีน้ำตาลเหลือง หรือ สีแดงเกือบดำ  สีขนบริเวณศีรษะมีการแต่งแต้มลักษณะคล้ายกับหน้ากาก  แต่ต้องในสัดส่วนที่รับกันอย่างดีถึงจะเหมาะสม

 ข้อควรจำ

     เจแปนนิส ชินมีปัญหาได้เช่นเดียวกับสุนัขพันธุ์หน้าสั้นทั่วๆ ไป พวกเขามีแนวโน้มมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ ส่งเสียงครืดคราด ถ้าหากอยู่ในระดับรุนแรงมากขึ้น ควรพาไปพบสัตวแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นกระดูกสะบ้าอักเสบ ต้อหิน ต้อกระจก โรคลมแดด  และเสี่ยงอย่างมากที่จะเป็นโรคหัวใจในสุนัข โดยเฉพาะเมื่ออายุย่างเข้า 10 ปี ดังนั้นจึงควรพาพวกเขาไปตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ และหากพบอาการผิดปกติควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที